วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อินเดีย...สามเหลี่ยมอารยธรรม เดลี อัครา ชัยปุระ 8 # ทัชมาฮาล และ วัดอาชาธรรม

จากป้อมอัคราฟอร์ท  ก็ได้เวลาที่เราจะเดินทางไปชมอนุสรณ์สถานที่ยิ่งใหญ่และถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกกันนั่นคือ...ทัชมาฮาล

ทางเข้าด่านแรกของทัชมาฮาล
ทัชมาฮาล ( Taj  Mahal ) ถือเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก เพราะที่นี่สร้างด้วยหินอ่อนบริสุทธิ์ โดยใช้เวลาสร้างถึง 23 ปี (1630-1648)   ใช้คนงานในการออกแบบ เขียนลวดลาย ช่างอิฐ ช่างปูน ช่างกระเบื้อง ช่างแกะสลัก ช่างตกแต่งภายใน รวมกว่า 20,000 คน

ใช้วัสดุในการก่อสร้าง คือ หินอ่อนสีขาว หินอ่อนสีแดง  หินอ่อนสีเหลือง เพชรตาแมว ปะการัง และ หอยมุก หินเจียรไนสีฟ้า  ตลอดจนเพชรนิลจินดาอีกจำนวนมาก โดยประมาณการกันว่าใช้เงินค่าก่อสร้างในยุคนั้นไปราว  50 ล้านเหรียญ หรือ ประมาณ 1,500 ล้านบาท !!!!


 
ทัชมาฮาลถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานฝังศพของ พระนางมุมทัชมาฮาล ราชินีผู้ป็นที่รักยิ่งของ พระเจ้าชาห์ เจฮัน  พระนางสิ้นพระชนม์เพราะคลอดโอรสองค์ที่ 15 (ก็น่าอยู่หรอกนะ  เยอะเกิ้นนน) ซึ่งทำให้พระเจ้าชาห์ เจฮัน เสียพระทัยมาก พระองค์จึงสร้างที่ฝังศพที่ใหญ่โตและล้ำค่าที่สุดในโลกขึ้นที่ริมแม่น้ำยมนา

มีเรื่องเล่าว่าเหตุที่ทัชมาฮาลถูกออกแบบให้สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวและมีรูปทรงคล้ายๆ ภูเขาก็เพราะครั้งหนึ่งขณะที่พระเจ้าชาร์ เจฮัน และ พระนางมุมทัชมาฮาลได้เสด็จพระพาสไปนอกสถานที่  พระนางมุม มาฮาลมีความประทับใจในภูเขาหิมะสีขาวโพลนที่ทรงทอดพระเนตรเห็น  จึงตรัสกับพระเจ้าชาร์ เจฮันว่าถ้าสิ้นพระชนม์ไปก็อยากมีสุสานที่สวยงามบริสุทธิ์เหมือนภูเขาหิมะลูกนั้น   ดังนั้นเมื่อสิ้นพระชนม์  พระเจ้าชาร์ เจฮัน ก็เลยจัดหนัก จัดเต็มให้ตามคำขอ

ประตูสู่ทัชมาฮาล
ทัชมาฮาลค่อยๆ เผยโฉม
แวบแรกที่เห็นต้องเลยว่าขนลุกจริงๆ ยิ่งใหญ่ สวยงามมาก
ทัชมาฮาลได้รับการยอมรับจากสถาปนิกทั่วโลกว่าสร้างขึ้นอย่างถูกสัดส่วน และ วิจิตรงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 39 เมตร  ตรงกลางมีโดมสูง 60 เมตร  มีโดมเล็กๆ เป็นหอสูงอยู่ทั้ง 4 มุม   ภายในประดับด้วย หินอ่อนสลักฉลุเป็นลวดลายวิจิตรตระการตา แต่งเติมด้วยนิล พลอยสี ทับทิม   ตรงกลางภายใต้หลังคาโดมใหญ่มีแท่นวางพระศพที่ทำด้วยหินอ่อน และมีฉากหินอ่อนฉลุลายงดงามกั้นอีกชั้นหนึ่ง แต่ศพจริงๆ ไม่ได้บรรจุอยู่ในหีบแต่ฝังอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินตรงกับที่วางหีบศพนั้น

ไม่มีอะไรจะบรรยายได้
ไม่แปลกที่ผู้คนจากทั่วโลกต่างดั้นด้นมาที่นี่
อย่างที่เคยเล่าในตอนที่แล้วว่าพระเจ้าชาร์ เจฮัน ตั้งใจจะสร้างทัชมาฮาลอีกหลังแต่เป็นหินอ่อนสีดำล้วนให้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันของแม่น้ำ   แต่โดนลูกยึดอำนาจก่อน (เพราะพ่อชักจะเลยเถิดไปใหญ่แล้ว) ไม่งั้นเราคงได้เห็นความงามอันยิ่งใหญ่ของทัชมาฮาลทั้งขาว และ ดำ ที่สร้างไว้คู่กัน

ทางเข้าไปที่เก็บพระศพ
ทัชมาฮาลไม่อนุญาตให้ใส่รองเท้าขึ้นไป ต้องถอดวางไว้ หรือซื้อถุงพลาสติกมาสวมไว้แบบนี้
แต่ก็ถือเป็นโชคดีของคนอินเดีย ที่ทัชมาฮาลยังคงตั้งอยู่อย่างโดดเด่นสวยงามอยู่ที่นี่ เพราะมีเรื่องเล่า(อีกแล้ว) ว่าตอนที่อังกฤษต้องคืนเอกราชให้อินเดียได้พยายามจะยกทัชมาฮาลทั้งหลังกลับไปอังกฤษ (เหมือนกับที่สิ่งมีค่าหลายอย่างของอินเดียถูกนำออกไป)  แต่เพราะการก่อสร้างด้วยเทคนิคพิเศษทำให้วิศวกรชาวอังกฤษไม่สามารถรื้อหินอ่อนแม้แต่ก้อนเดียวออกมาจากตัวทัชมาฮาลได้  จึงต้องยอมแพ้ไป

เฮ้อ !!! ได้ยินไกด์เล่าแล้วก็นะ  อีตาคนคิดก็คิดได้ ทัชมาฮาลทั้งหลังยังจะยกของเขาไปอีก  โกยไปทุกอย่าง  ช่างน่ารังเกียจจริงๆ (ไม่ได้มีความเป็นสุภาพบุรุษ อังกฤษอย่างที่พยายามสร้างภาพเลย )


หลังจากชมความงามของทัชมาฮาลกันจนเต็มตา เต็มอิ่มแล้ว (ก็มืดค่ำพอดี) เราก็ไปแวะชมโรงงานผลิตงานหินอ่อนกันต่อเพื่อให้บรรดาเหล่ามหาราชา มหารานีชาวไทยได้ช้อปปิ้งระบายเงินในกระเป๋า เพราะอัครามีชื่อเสียงทางด้านการผลิตหินอ่อนมาช้านาน ราคาไม่แพงด้วย (เมื่อเทียบกับที่อื่น แต่ก็ยังแพงอยูดีสำหรับคน "มีฐานะ" อย่างเรา 555)      หลังจากช็อปกันจนจุใจแล้วก็เดินทางกลับโรงแรม Mughal Sheraton Palace ที่พักของเราในคืนนี้
โรงงานหินอ่อน

โรงแรม Moghul Sheraton

เช้าวันรุ่งขึ้นก็ได้เวลาเดินทางกลับนิวเดลี  ซึ่งไฮไลท์สำคัญที่รอเราอยู่ที่นั่นก่อนที่จะบินกลับเมืองไทยคือ วัดอาชาธรรม 


วัดอาชาธรรม (Akshardham Temple) เป็นวัดฮินดูที่ใช้เงินทุนก่อสร้างมากถึง 600 ล้านรูปี  ภายในจะเป็นคล้ายๆพิพิธภัณฑ์ทางอารยธรรมมากกว่าเป็นศาสนสถาน เนื่องจากภายในจะมีการจัดแสดงความเป็นมาของอารยธรรมอินเดียกว่า 10000 ปี ทั้งในแง่มุมของวัฒนธรรม สังคม และในฐานะประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดศาสนาถึง 3 ศาสนา   โดยการจัดแสดงนั้นก็มีความหลากหลาย ทั้งในแง่รูปปั้น ภาพวาด การนั่งเรือล่องไปตามสายน้ำจำลองชมหุ่นขี้ผึ้ง  หรือแม้กระทั่งน้ำพุดนตรี (เข้าไปแล้วนึกว่าสวนสนุก แต่ก็เป็นสวนสนุกที่อลังการมาก)

อาคารหลักของวัดอาชาธรรม




ด้านในสลักด้วยหินอ่อน วิจิตรมาก

แต่เนื่องจากอินเดียยังมีความขัดแย้งทางศาสนาอยู่มาก ที่นี่จึงมีความเข้มงวดในการเข้าชมค่อนข้างมาก คือห้ามนำโลหะทุกชนิด กระเป๋าทุกชนิด และกล้องทุกชนิดเข้าไปโดยเด็ดขาด เรียกว่าก่อนเข้าต้องถอดนาฬิกา แหวน เข็มขัด สร้อยคอ กระเป๋าตังค์ ออกจนหมด แทบจะต้องเดินตัวเปล่าเข้าไปเลย

แม้มาตรการนี้จะทำให้หลายคนหงุดหงิดจนถอดใจไม่อยากเข้าไป แต่ในฐานะคนที่เคยเข้าไปชมแล้วขอบอกคำเดียวว่า ยอมทำตามที่เขาบอกเถอะคับ เพราะสิ่งที่จะได้เห็นข้างในนั้นคุ้มค่าทีเดียว

และเนื่องจากภายในห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด ดังนั้นผมจึงของยืมรูปจาก  http://www.akshardham.com/ ซึ่งเป็นเวบไซด์ทางการของวัดแห่งนี้มาให้ชมกันว่าด้านในอลังการแค่ไหน           

ล่องเรือชมที่มาของอารยธรรมอินเดีย
เรียนรู้วิถีชีวิตผู้คน
น้ำพุดนตรีธรรมะ มีพระตรีมูรติ(วัยเด็ก) อยู่ตรงกลาง

สวนบุคคลสำคัญของอินเดีย
 
วัดอาชาธรรมคงเป็นสถานที่สุดท้ายก่อนที่พวกเราจะกลับเมืองไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอินเดียนั้นเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่  มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ มีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก  แต่ขณะเดียวกันท่ามกลางความยิ่งใหญ่และหรูหราเหล่านั้น  เราก็ได้เห็นอีกภาพที่มีความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือความยากจนข้นแค้นของคนอีกจำนวนมาก ซึ่งน่าเสียดายที่ความยากจนเหล่านั้นมาจากหลักการทางศาสนาที่ทำให้คนที่เกิดมาในวรรณะหนึ่งไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ และต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากนี้ไปชั่วชีวิต



แต่นี่ล่ะคือส่วนหนึ่งของการเดินทาง  เราไม่ได้ไปเพื่อจะชื่นชมแต่สิ่งก่อสร้างที่สวยงาม แปลกตา แต่เราไปเพื่อเรียนรู้ชีวิตของผู้คนซึ่งมีความแตกต่างทั้งภาษา ความเชื่อ และวัฒนธรรม  ที่สำคัญอาจไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด  สิ่งที่เราทำได้ก็คงแค่เรียนรู้และทำความเข้าใจ    และถามตัวเองว่า...เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่พบเห็นเหล่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น