วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อินเดีย...สามเหลี่ยมอารยธรรม เดลี อัครา ชัยปุระ 7 # ป้อมอัคราฟอร์ท (Agra Fort)


จากชัยปุระ เช้าวันรุ่งขึ้นเราก็เดินทางไปต่อที่เมือง อัครา  ซึ่งถือเป็นเมืองสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งในอินเดีย เนื่องจากเมืองนี้เป็นที่ตั้งของ...ทัชมาฮาล...อนุสรณ์สถานแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนั่นเอง

ระหว่างทางเราได้ผ่านหมู่บ้านหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมถนน เป็นหมู่บ้านที่ดูยากจนมากๆ   เพราะบ้านแต่ละหลังมีลักษณะเป็นเพิ่งพักชั่วคราวมากกว่า  แต่จุดที่ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีความน่าสนใจที่จะต้องพูดถึงก็เพราะหมู่บ้านนี้เป็น..."หมู่บ้านโสเภณี" 

เพราะฉะนั้นระหว่างที่เราขับรถผ่านจะสังเกตุได้ว่าหน้าบ้านแต่ละหลังจะมีผู้หญิงอินเดียนั่งประจำการอยู่และคอยจับจ้องรถที่ขับผ่านไปมา เพราะกลุ่มเป้าหมายของหญิงขายบริการเหล่านี้จะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานหรือบรรดาสิงห์รถบรรทุก




นั่งรถต่อไปอีกสักพักเราก็มาแวะกันที่จุดท่องเที่ยวจุดแรกของวันนี้ นั่นคือ อุทยานแห่งชาติปารัตเปอร์


อุทยานแห่งชาติ ปารัตเปอร์ (ฺBharatpur National Park) มีพื้นที่ 29 ตารางกิโลเมตร  เป็นอุทยานที่มีชื่อเป็นทางการอีกชื่อว่า Keoladeo Ghana National Park เป็นอุทยานที่ถูกสร้างขึ้นโดยมหาราชาของรัฐ ปารัตเปอร์ ในศตวรรษที่ 19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำเป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแต่ภายหลังตัวเขื่อนนี้ ได้พังทลายลงจนเกิดเป็นทะเลสาปปารัตเปอร์  ทำให้ในยุคต่อๆ มา อุทยานปารัตเปอร์ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ล่าสัตว์ส่วนพระองค์ของมหาราชา ก่อนที่จะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี 1982 และถูกประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในปี 1985


อุทยานแห่งนี้จะมีชื่อเสียงในเรื่องนกที่มีมากกว่า 350 สายพันธุ์  อุทยานแห่งนี้จึงถูกจัดเป็นสถานที่ดูนกที่ดีที่สุดแห่งหนุ่งของโลก  

วิธีการเข้าไปชมในอุทยานจะมีหลายวิธี แต่ที่เป็นที่นิยมคือการนั่งสามล้อแล้วก็นั่งชมนก ชมไม้ในอุทยานไปเรื่อยๆ






 หลังจากนั่งรถเข้าไปในอุทยานพอสมควรก็ต้องยอมรับคับว่าพวกเรามากันผิดเวลา (คนจัดคิดได้ไง ให้มาดูนกตอนใกล้ๆเที่ยง) เพราะว่านั่งกันไปเกือบชั่วโมงแล้วก็แทบไม่เห็นนกเลย เห็นแต่ต้นไม้  ที่สำคัญสำหรับพวกเราคนไทยอดรู้สึกไม่ได้ว่าสถานที่ดูนกในเมืองไทยยังมีที่สวยและน่าท่องเที่ยวกว่านี้มากมายหลายเท่า   พวกเราจึงตัดสินใจไม่เข้าไปกันต่อ


ดังนั้นเราจึงมุ่งตรงไปกันที่จุดหมายต่อไปซึ่งก็คือสถานที่รับประทานอาหารเที่ยงของเราในวันนี้นั่นคือ...พระราชวังลักษมีวิลล่า  (กินในวังกันตลอด จนเริ่มจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นทายาทมหาราชาเข้าบ้างแล้ว 555)





พระราชวังลักษมี (Laxmi Villas Palace) สร้างในปี 1887 โดยราชา Ragunath Singh ซึ่งเป็นน้องชายของมหาราชา Ram Singh ผู้ปกครองแคว้นปารัตเปอร์  โดยพระราชวังแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นโรงแรม (เหมือนพระราชวังส่วนใหญ่ในอินเดีย) ในปี 1994






 สำหรักแขกคนสำคัญๆ ที่เคยมาพักที่พระราชวังแห่งนี้ได้แก่ ดยุคแห่งเอดินเบอร์ก ( Duke of Edinburgh) ,พระเจ้าชาร์แห่งอิหร่าน , กษัตริย์ของเนปาล เป็นต้น 

และเช่นเคยคับใครที่เบื่อๆ อยากลองเปลี่ยนรสชาติไปใช้ชีวิตแบบมหาราชา หรือ รานีก็เข้าไปดูข้อมูลของโรงแรมได้ที่

http://www.laxmivilas.com/index.php


 รับประทานอาหารเที่ยงพร้อมชมความงามของพระราชวังลักษมีกันอิ่มแล้วก็ได้เวลาเดินทางไปเมืองอัครากันต่อโดยใช้เวลาอีกประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ เราก็เดินทางถึงเมืองอัครา และจุดหมายแรกที่เราไปแวะชมกันก็คือ ป้อมอัคราฟอร์ท คับ




 ป้อมอัคราฟอร์ท (Agra Fort)  ได้ถูกสร้างขึ้นโดยจักรพรรดิ์อักบาร์ ของอาณาจักรโมกุลซึ่งถือเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่มากในยุคนั้น โดยได้เริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่ปี 1565 และมาแล้วเสร็จในปี 1574 







อัคราฟอร์ทตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา มีความยาวถึง 2.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยกำแพงที่สร้างด้วยหินทรายสีแดง ประตูทางเข้าที่ตกแต่งประดับประดาด้วยกระเบื้องหลากสีสัน พร้อมด้วยอาคารหินอ่อนที่อยู่ด้านในมากถึง 500 หลัง






ป้อมอัคราเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะโมกุล และเป็นสัญลักษณ์ถึงความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิ์อักบาร์ รวมทั้งได้สะท้อนถึงพยายามของพระองค์ที่จะรวมธรรมเนียมประเพณีของศาสนาอิสลาม และฮินดูเข้าไว้ด้วยกัน โดยเห็นได้ชัดทั้งในสถาปัตยกรรมและการตกแต่งต่างๆ





ป้อมแห่งนี้แม้จะเริ่มสร้างสมัยจักรพรรดิ์อักบาร์ แต่ก็สำเร็จเสร็จสิ้นในสมัยมหาราชาชาร์ จาฮัน (Shah Jahan) ซึ่งเป็นหลานของพระองค์ และเป็นมหาราชาพระองค์นี้เองเป็นผู้สร้างทัชมาฮาลอันยิ่งใหญ่
 
ในภายหลังจักรพรรดิ์  ชาร์ จาฮัน ผู้สร้างทัชมาฮาล ได้ถูกพระโอรสของพระองค์เองคือ จักรพรรดิ์ออรังเซบ (Aurangzeb) ทำการปฏิวัติยึดอำนาจ โดยมีเรื่องเล่าว่าสาเหตุของการยึดอำนาจนอกจากเรื่องของการเมืองแล้วยังมาจากการหมดความอดทนของข้าราชบริพารเพราะทัชมาฮาลใช้งบประมาณและกำลังคนจำนวนมากในการก่อสร้างจนบ้านเมืองแทบไม่มีอะไรเหลือ แต่พระเจ้าชาร์ จาฮัน กลับมีพระราชดำริจะก่อสร้างทัชมาฮาลอีกหลัง แต่ทำด้วยหินอ่อนสีดำทั้งหมด เพื่อจะได้เป็นอนุสรณ์คู่กับทัชมาฮาลสีขาว  แค่ได้ยินพระราชดำรินี้เหล่าข้าราชบริพารก็ร้อนๆ หนาวๆ และคงเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น

ดังนั้นในบั้นปลายชีวิตพระเจ้า ชาร์ เจฮัน จึงถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่อัคราฟอร์ท ซึ่งเป็นสถานที่ๆพระองค์สามารถใช้เฝ้าชมความงามของผลงานชิ้นเอกของพระองค์ได้ จนสิ้นพระชนท์ในปี 1657 



ที่กุมขังพระเจ้าชาร์ เจฮัน

อาจจะเป็นคุกที่สวยที่สุดในโลก


จากที่กุมขัง สามารถมองเห็นทัชมาฮาลตลอดเวลา



บริเวณนี้เป็นที่ซึ่งจักรพรรดิ์ชาร์ เจฮัน สิ้นพระชมม์



นอกจากนั้นภายในอัคราฟอร์ทยังมีท้องพระโรงซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ บัลลังก์มยุรา ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เนื่องจากถือเป็นบัลลังก์ที่มีความล้ำค่ามากเพราะนอกจากเคยเป็นราชบัลลังก์คู่บารมีของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุลแล้ว ยังเป็นราชบัลลังก์ทองคำที่ประดับด้วยเพชรนิลจิดามีค่าจำนวนมาก  แต่น่าเสียดายที่หลังจากจักรพรรดิ์ Nader Shah ได้ถูกลอบปลงพระชนม์ ราชบัลลังก์ที่แสนล้ำค่านี้ก็หายไปเป็นเวลาหลายปี  ก่อนจะมาปรากฎตัวอีกครั้งในฐานะราชบัลลังก์คู่บารมีของอาณาจักรเปอร์เซียโดยปัจจุบันราชบัลลังก์ดังกล่าวนี้ยังอยู่ที่ประเทศอิหร่าน (แม้จะเรียกบัลลังก์มยุราเหมือนกันแต่รูปทรงต่างกันเล็กน้อย จึงเชื่อว่าเป็นการทำใหม่ หรือไม่ก็ใช้ฐานเดิมมาดัดแปลง)


อดีตเคยเป็นที่ตั้งของบัลลังก์มยุรา
ภาพวาดบัลลังก์มยุราต้นฉบับที่สูญหายไป ทำด้วยทองคำประดับประดาด้วยไข่มุกและเพชรนิลจินดามหาศาล
ท้องพระโรงที่ตั้งเดิมของบัลลังก์มยุรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น